จัดทำโดย



พีรพล มาช่วย และ นันทสิทธิ์ จันทิมะสะปัญญา

สาขาวิชา สังคมศึกษา ปีที่ 2 คณะครุศาสตร์

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

มรดกโลก ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เป็นมรดกโลกแหล่งที่ 5 ของไทย และเป็นอันดับที่ 2 ของมรดกทางธรรมชาติไทย ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 10-17 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ประกอบไปด้วย อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก 1 แห่ง กินพื้นที่อยู่ใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ มีพื้นที่รวมทั้งสิ้นราว 3,874,863 ไร่ หรือ 6,155 ตารางกิโลเมตร ถูกเรียกว่าเป็น ผืนป่าตะวันออก ซึ่งเปรียบเทียบกับผืนป่าตะวันตก ในเขตจังหวัดตาก และรอบๆ

ประวัติ

 ป่าดงพญาไฟ

แหล่งมรดกโลกผืนนี้ตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งแต่ก่อนเป็นป่าดงดิบที่ทึบหนา มีสัตว์มากมาย ทั้ง เสือ กระทิง และช้าง ชุกชุมไปด้วยไข้มาเลเรีย ไม่มีถนนหนทางตัดฝ่าผืนป่า ดั่งเช่นในปัจจุบัน การเดินทางจากกรุงเทพ ไปภาคอีสานนั้น จึงยากลำบากอย่างยิ่ง หลายคนต้องเสียชีวิตด้วยไข้ป่า หรือสัตว์ป่า จนไม่ค่อยจะมีใครกล้าเข้ามาในดินแดนแถบนี้ ผู้คนจึงตั้งชื่อให้ผืนป่าแห่งนี้ว่า ป่าดงพญาไฟ

ช่องหินลับ ในเขตป่าดงพญาเย็น ปัจจุบันมีโรงงานปูนซีเมนต์ไปตั้งอยู่ภายใน

 ป่าดงพญาเย็น

คำว่า ป่าดงพญาเย็นนั้น ได้ถูกกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหลักฐานจากบทพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง เที่ยวตามทางรถไฟ ได้ทรงเล่าถึงป่าดงพญาไฟไว้ว่า
"ดงพญาไฟนี้ เป็นช่องสำหรับข้ามไปมา ระหว่างเมืองสระบุรีกับมณฑลนครราชสีมาแต่โบราณ ไปได้แต่โดยเดินเท้า จะใช้ล้อเกวียนหาได้ไม่ ด้วยทางต้องเดินตามสันเขาบ้าง ตามไหล่เขาบ้าง คนเดินตามปกตินั้นตั้งแต่ตำบลแก่งคอย ต้องค้างคืนในป่านี้ถึง 2 คืน ถึงจะพ้น"
"สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเคยพระราชดำริไว้ว่า ไม่ควรเรียกดงพญาไฟเพราะให้คนครั่นคร้าม จึงทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอให้เปลี่ยนชื่อจาก ดงพญาไฟ เป็นดงพญาเย็น แต่คนหลายๆคนก็ยังคงเรียกว่า ป่าดงพญาไฟอยู่ดั่งเดิม"
หลังจากมีการสร้างทางรถไฟ และถนนมิตรภาพ จากภาคกลางไปสู่ภาคอีสาน ดงพญาไฟก็ถูกผ่าออกทันที ผู้คนเริ่มที่จะอพยพเข้าไป แล้วถากถางป่าทำไร่ทำนา โดยเฉพาะบริเวณ ฟาร์มโชคชัย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นับตั้งแต่นั้นมา ป่าที่เคยดุร้ายดงพญาไฟ ก็ได้กลายมาเป็นป่าที่ต้องอยู่เงียบๆ ป่าดงพญาเย็นอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่นั้นมา

 ตำบลเขาใหญ่

เมื่อราว 70-80 ปีก่อน ชาวบ้านจากบ้านท่าชัย และบ้านท่าด่าน จังหวัดนครนายก อพยพมาบุกเบิกพื้นที่ทำกันบริเวณริมหนองขิง กลางผืนป่าเขาใหญ่ อันเป็นทำเลที่ดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ ถากถางเพื่อทำไร่พริก และนาข้าว เมื่อเห็นว่าสถานที่นี้ดี ก็กลับไปชวนญาติๆตามขึ้นมาถากถาง จนกลายมาเป็นชุมชนกลางป่าที่มีราว 40 หลังคาเรือน ยิ่งเวลาผ่านไป ก็ยิ่งมีชาวบ้านจากจังหวัดรอบๆยิ่งขึ้นมาถากถางมากขึ้น จนพื้นที่ราว 18,750 ไร่ หรือราว 30 ตารางกิโลเมตร ถูกถากถางไป
ในราวปี พ.ศ. 2465 ชุมชนนี้ได้ขออนุญาตจัดตั้งเป็น ตำบลเขาใหญ่ ขึ้นกับ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ชื่อ เขาใหญ่ จึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้นมา ทั้งที่ไม่มียอดเขาแห่งใดที่มีชื่อคำว่าเขาใหญ่เลย มีแต่ เขาเขียว เขาร่ม เขาแหลม และเขาสามร้อยยอดเท่านั้น
ด้วยเหตุที่ว่าตำบลเขาใหญ่นี้อยู่กลางใจป่า ไม่มีถนนที่สามารถเข้าไปได้อย่างสะดวก จึงทำให้ชุมชนนี้กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน กลายเป็นแหล่งซ่อนสุมของเหล่าโจรผู้ร้าย ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 ทางจังหวัดนครนายก จึงได้ส่งคน นามว่า ปลัดจ่าง มาปราบกวาดล้างโจรบนเขาใหญ่ และก็สามารถปราบได้ โดยใช้เวลานับเดือน แต่ตัวปลัดนั้นก็ต้องมาเสียชีวิตด้วยไข้ป่า ผู้คนจึงเชิดชูด้วยความกล้าหารของท่าน พวกเขาจึงการสร้าง ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ขึ้น เป็นศาลที่ให้ผู้คนกราบไหว้มาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อปราบปรามโจรเสร็จ ทางจังหวัดนครนายกเห็นว่าหากปล่อยให้มีการตั้งตำบลเหมือนเดิม นานเข้าก็จะกลายเป็นชุมโจรอีก จึงได้สั่งให้อพยพชาวบ้านกว่า 1,000 คนลงมายังพื้นราบ และสั่งให้ยกเลิกตำบลเขาใหญ่ ปล่อยให้กลายเป็นทุ่งหญ้ารกร้าง และป่าให้เห็นดั่งเช่นให้เห็นปัจจุบันอย่างเดิม

 อุทยานแห่งชาติแห่งแรก

Khao Yai Area.jpg
ในปี พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจราชการในบริเวณดังกล่าว ท่านได้มีโอกาสนั่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจป่าและปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ได้ห่วงกับการทำลายป่าซึ่งมีมากขึ้นทุกวัน ท่านจึงมีคำสั่งให้ทางกระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยร่วมกันสำรวจเพื่อจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2505 ซึ่งนับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย

 มรดกโลก

แหล่งมรดกโลกเขาใหญ่ ดงพญาเย็นนั้น เป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยมีสภาพป่าแบบต่างๆ ตั้งแต่ ป่าดงดิบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และทุ่งหญ้า
พื้นที่ตรงผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่นั้น เคยได้รับการเสนอชื่อขึ้นไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2533 แล้ว ซึ่งในขณะนั้นได้เสนอแหล่งธรรมชาติอีก 3 แหล่งสู่ที่ประชุมองค์การยูเนสโกเพื่อพิจารณา คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา และปรากฏว่า เขตรักษาพันธุ์สัตวป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเพียงแห่งเดียว ด้วยเหตุที่ว่าอุทยานแห่งชาติที่เหลือทั้ง 2 แห่งนั้น เล็กเกินไป และยังมีนโยบายที่แม่แน่นอนและไม่เพียงพอ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นแหล่งที่มีชนิดพันธุ์ของพืช และสัตว์ที่ไม่สามารถพบได้ที่อื่นเป็นจำนวนมาก โดยในจำนวนพืชราว 15,000 ชนิดที่พบในประเทศไทย สามารถพบในแหล่งมรดกโลกนี้ถึง 2,500 ชนิด มีพืชเฉพาะผืนป่านี้ถึง 16 ชนิด มีสัตว์ป่ากว่า 800 ชนิด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 112 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกว่า 209 ชนิด นกกว่า 392 ชนิด และเงือก 4 ชนิด ใน 6 ชนิดที่พบในประเทศ

 ข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงรัก ได้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ "ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 29 เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้
  • (iv) - เป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนา ทางด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรม ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์
  •  ข้อที่ควรจะปรับปรุง
ยูเนสโกได้เสนอข้อเสนอแนะตามมาอีก 7 ข้อ หลังจากได้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลก ได้แก่
  1. ให้มีการจัดระบบการจัดผืนป่าทั้งหมดแบบบูรณาการ ไม่ใช่แยกจัดแบบต่างคนต่างดูแลเหมือนเช่นที่ผ่านมา
  2. รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณ และทรัพยากรบุคคล เพื่อการบริหารจัดการพื้นป่าอย่างเต็มที่
  3. ดูแลนโยบายและการปฏิบัติใหสอดคล้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน
  4. ต้องให้การส่งเสริมการสำรวจ และวิจัยสถานภาพของป่า และสัตว์ป่าอย่างจริงจัง
  5. จะต้องหาหนทางเชื่อมผืนป่าต่างๆเข้าด้วยกัน โดยการเชื่อมต่อกับป่าอนุรักษ์ในกัมพูชา
  6. ต้องหาทางแก้ปัญหาถนนที่ตัดแยกผืนป่าออกจากกัน โดยจะต้องศึกษา และหามาตรการให้ผืนป่าเชื่อมต่อกันภายในปี พ.ศ. 2550
  7. ดำเนินกิจกรรมที่เสริมสร้างความร่วมมือจากชาวบ้าน และชุมชนในการอนุรักษ์ผืนป่า เพื่อเป็นหลักประกันในสถานภาพมรดกโลก

 ปัญหา

 ปัญหาทางหลวงสาย 304

จากกรณีที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม มีโครงการที่จะขยายถนนเส้น 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ถนนที่ผ่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน จาก 2 เลน เป็น 4 เลน โดยได้ไถพื้นที่ป่าไปแล้วกว่า 4 กม.
ทางด้านกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโครงการเฉลิมฉลองผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 304 ว่า เป็นแผนเมกะโปรเจกต์ของกระทรวงคมนาคมที่นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นเป็น ประธาน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2548
กรมอุทยานยังมีความเห็นอีกว่า ถนน 304 ที่ผ่านระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลานและเขาใหญ่ โดยเฉพาะกม.ที่ 27-29 และกม.ที่ 42-48 มีความเหมาะสมที่จะทำให้ป่าเชื่อมต่อกันได้ และควรสร้างเป็นสะพานยกสูงสำหรับให้รถวิ่งด้านบน ส่วนด้านล่างก็ปลูกป่า ทำแนวรั้วถนนเพื่อให้สัตว์อพยพเคลื่อนย้ายหากันได้ อีกทั้งเรื่องนี้ยังเป็นไปตามแผนงานที่ รัฐบาลไทยต้องนำเสนอความคืบหน้าให้คณะกรรมการมรดกโลก(ยูเนสโก) ในปี พ.ศ. 2550 หลังการเป็นมรดกโลกด้วย นอกจากนั้นทางไทยต้องนำเสนอแผนแม่บทการจัดการผืนมรดกโลกแห่งใหม่ ซึ่งขณะนี้แผนแม่บทจัดทำเสร็จแล้ว และเตรียมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องราชการ และท้องถิ่น ในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนจะมีงานเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปี
ทางป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ยังได้รับงบสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย จำนวน 60 ล้านบาท สำหรับจัดทำแนวเชื่อมต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และเชื่อมผืนป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน-ตะวันตก เทือกเขาตะนาวศรี เพื่อศึกษาการเดินทางของสัตว์ที่เดินทางข้ามระหว่างป่าไทยกับป่าพม่าด้วย ขณะนี้กรมอุทยานเตรียมจะพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมอุทยานพยายามนัดคุยกับกรมทางหลวง เพื่อหารือในประเด็นนี้ แต่มีการเลื่อนนัดมาหลายครั้ง จนล่าสุดได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะมีการประชุมกันในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้
กรมอุทยานยังได้ทำหนังสือมาที่กรมทางเพื่อให้ทำเป็นสะพานยกสูง เพื่อแบ่งพื้นที่ข้างบนให้รถผ่าน ด้านล่างให้เป็นทางสัตว์ผ่าน แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่กรมทางมีงบประมาณน้อย และจำเป็นขยายถนน 4 เลน ซึ่งรวมแล้วมีความกว้างเพียง 17-18 เมตร เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่มีรถบรรทุกหนักวิ่งผ่านกว่า 5,000 คันต่อวัน และลดปัญหาอุบัติเหตุเนื่องจากเกาะกลางเป็นการทำชั่วคราวเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องรอคณะกรรมการมรดกโลกยูเนสโกทำการศึกษาความเป็นไปได้ที่เชื่อมผืนป่าบนถนน 304 เพื่อพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง
แต่สิ่งที่ร้ายที่สุดก็คือแหล่งมรดกโลกนี้ถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก เพราะพึ่งได้รับการลงทะเบียนเป็นผืนป่ามรดกโลกไม่ถึงปี แต่กลับมีการบุกรุกและดำเนินการที่อาจจะเป็นการเสียหายแก่มรดกโลกผืนนี้ ทั้งที่ไทยได้ประกาศตัวเองว่าจะดูแลรักษาให้ดี เหมือนกับว่าเราโกหก ประเทศ และอาจจะเป็นเหตุให้ถูกปลดจากการเป็นมรดกโลกได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติเสียหน้าอย่างมาก รวมทั้งยังจะเสียหายไปยังพื้นที่อื่นที่ไทยกำลังจะขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติในอนาคต เช่น อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และบริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ เป็นต้น

 ปัญหาเรื่องเขื่อน
นายอดุล วิเชียรเจริญ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกกล่าวว่า การที่กรมชลประทานยังไม่ยกเลิกโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่งในพื้นที่แหล่งมรดกโลกแห่งนี้นั้นทำให้น่าเป็นห่วงว่าแหล่งมรดกโลกแห่งนี้อาจถูกถอนออกจากการเป็นมรดกโลก ซึ่งแหล่งมรดกโลกที่เคยถูกถอดถอนและถูกปลดมาอยู่ในภาวะอันตรายนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามที่ร้างแรง เพราะจะทำให้มีปัญหาขยะ น้ำเสีย โดยในการประชุมประจำปี พ.ศ. 2550 นี้คณะกรรมการมรดกโลกได้ลงมติให้หมู่เกาะกาลาปากอส ประเทศเอกวาดอร์ ถูกปลดสถานภาพไปอยู่ในภาวะอันตราย เช่นเดียวกับที่อุทยานแห่งชาตินีโอโกโล-โกโบ ประเทศเซเนกัล ซึ่งมีปัญหาการก่อสร้างเขื่อน
ด้านอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ กล่าวว่า จะสอบถามไปยังกรมชลประทานว่า ยังมีโครงการนี้อยู่หรือไม่ ยอมรับว่าคงไม่สามารถสั่งระงับโครงการได้ หากกรมชลประทานจะเดินหน้าศึกษาความเหมาะสมก็ถือว่าทำได้ ส่วนจะก่อสร้างได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง [1]
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบริเวณพื้นที่ป่า ห้วยโสมง ใสน้อย และใสใหญ่ เป็นเพียง 3 ใน 12 โครงการ ที่กรมชลประทานเคยได้รับอนุมัติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ก่อนที่จะมีกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ. 2535 ที่ระบุให้ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการนี้ถูกนำมาปัดฝุ่นเป็นโครงการแก้ไขปัญหาน้ำภาคตะวันออก และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2548 หลังจากดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในวันที่ 14 กรกฎาคมปีเดียวกัน และล่าสุด กรมชลประทานได้ให้ทีมอาจารย์จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม ศึกษาทางด้านวิศวกรรม

การฟื้นฟูป่า

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และทางเทสโก้โลตัส ได้ร่วมลงนามการดำเนินโครงการ "๙ ล้านกล้า ๘๐ พรรษามหามงคล" โดยมีเป้าหมายที่จะปลูกป่าให้ครบ 90 ล้านต้น บนเนื้อที่ 25,000 ไร่ ภายในเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2555 โดยจะดำเนินการปลูกในเขตพื้นที่ของป่าดงพญาเย็น บริเวณ 5 จังหวัด

ที่มาของบทความ : http://www.wikipedia.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น